วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

เรือมอันเร (รำสาก)
 
 
เรือมอันเร หรือ เรือมลูตอันเร เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวอีสานใต้ในจังหวัดสุรินทร์ คำว่า เรือม แปลว่า รำ ส่วนคำว่า อันเรแปลว่า สาก เรือมอันเรจึงแปลว่า รำสาก ส่วนคำว่า ลูต แปลว่า กระโดด เต้น ข้าม เพราะฉะนั้น เรือมลูตอันเร จึงแปลว่า รำเต้นสาก หรือการเต้นสาก นิยมละเล่นกันในวันสงกรานต์ ซึ่งเรียกว่า วันต็อม ชาวสุรินทร์จะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งจะหยุดงาน 3-7 วันเพื่อทำบุญ เมื่อหยุดงานก็มีเวลาว่างที่หนุมสาวจะได้พบปะกัน เกิดการละเล่นสนุกสนาน เช่น การเล่นสะบ้า เรือมอันเร
เรือมอันเร แต่เดิมนั้นไม่มีบทเพลงและท่าฟ้อนรำที่เป็นแบบฉบับอย่างในปัจจุบัน ผู้ประดิษฐ์เนื้อร้อง คือ ครูปิ่น ดีสม ครูใหญ่โรงเรียนบ้านโคกตาพรหม ตำบลโด อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้นำบทเพลงพื้นบ้านที่เคยร้องมาบรรจุใส่จังหวะต่างๆ ซึ่งมี 5 จังหวะดังนี้
    1. จังหวะไหว้ครู เกริ่นครู (ถวายครู)
    2. จังหวะเจิงมุย (จังหวะขาเดียว)
    3. จังหวะเจิงปรี (จังหวะสองขา)
    4. จังหวะมะลุปโดง (จังหวะร่มมะพร้าว)
    5. จังหวะกัจปกา ซาปดาน (จังหวะเด็ดดอกไม้)
ส่วนผู้คิดท่าฟ้อนคือ นางผ่องศรี ทองหล่อ และนางแก่นจันทร์ นามวัฒน์ ครูโรงเรียนบ้านหนองโด่ง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยใช้ท่าพื้นฐานที่ฟ้อนกันมาแต่เดิมมาดัดแปลงให้สวยงามยิ่งขึ้น ในการเล่นเรือมอันเรเราจะต้องมีการไหว้ครูเสียก่อน เดิมที่ชาวอีสานยังใช้การตำข้าวด้วยมือ หลังจากตำข้าวเสร็จก็จะนำสากมากระทบกัน ฉะนั้นสากจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเล่นเรือมอันเร การเล่นเรือมอันเรจะฟ้อนเป็นวงกลมรอบตัวผู้กระทบสาก มีการเข้าสากทีละคู่ตามจังหวะดนตรีที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนครบ 5 จังหวะ
เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกตัดด้วยผ้าต่วน นิยมใส่สีเหลือง นุ่งผ้าถุงไหมปูม ห่มผ้าสไบเฉียงบางๆ นิยมใช้ผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้ส่วนมากใช้สีเดียวกับผ้าซิ่น ผมปล่อย อาจจะทัดดอกไม้ให้สวยงาม ส่วนฝ่ายชายสวมเสื้อคอกลมแขนสั้นเป็นสีพื้น นุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าโสร่งไหมหางกระรอก ใช้ผ้าขาวม้าไหมพื้นเมืองของสุรินทร์พับครึ่งพาดบ่าปล่อยทิ้งชายทั้งสองชายด้านหลัง
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานใต้ ประกอบด้วย กลองตะโพน ปี่ในหรือปี่อ้อ ซอด้วง ซอตรัวเอ กรับ สาก 1 คู่และไม้หมอน 2 อัน
อุปกรณ์การแสดง
    1. ไม้หมอน 1 คู่ มีขนาดยาว 2-3 ศอก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว นิยมใช้ไม้มะค่า หรือ ไม้แดก
    2. สาก 1 คู่ ยาวประมาณ 4-6 ศอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น