วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

   บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน

 
      ารทำบุญข้าวประดับดิน เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสอง นิยมทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า หรือที่เรียกว่า บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน เป็นบุญที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ เปรต (ชาวอีสานบางถิ่นเรียก เผต) หรือญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ข้าวประดับดิน ได้แก่ ข้าวและอาหารคาวหวาน พร้อมหมากพลู บุหรี่ที่ห่อด้วยใบตอง กล้วย นำไปวางไว้ตามใต้ต้นไม้ แขวนไว้ตามกิ่งไม้ ตามบริเวณกำแพงวัดบ้าง (คนอีสานโบราณเรียกกำแพงวัดว่า ต้ายวัด) หรือวางไว้ตามพื้นดิน เรียกว่า "ห่อข้าวน้อย" พร้อมกับเชิญวิญญาณของญาติมิตร นำภัตตาหารไปถวายแด่พระภิกษุ สามเณร แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย โดยหยาดน้ำ (กรวดน้ำ) ไปให้ด้วย
 
มูลเหตุของความเป็นมา ของเรื่องการทำบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบท 
บุญเดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน
   "ญาติ ของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัด ของสงฆ์ต่างๆ ไปเป็นของตนเอง ในสมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า พวกอดีตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรกตลอดพุทธันดร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่ พระสมณโคดมพุทธเจ้า ในภัททกัปป์นี้ ก็ไม่ได้ตรวจน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่พวกญาติเหล่านั้น พอตกกลางคืนพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารเหล่านั้น ได้มาส่งเสียงร้องอันโหยหวนและแสดงรูปร่างน่ากลัวให้แก่พระเจ้าพิมพิสารได้ ยินและเห็น พอเช้าวันรุ่งขึ้นได้เสด็จไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องราว ที่เป็นมูลเหตุให้พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทราบ พระเจ้าพิมพิสารได้ทำบุญถวายทานอีก แล้วทรงอุทิศส่วนกุศลไปให้ พวกญาติที่ตายไปแล้วได้รับส่วนกุศลแล้ว ได้มาแสดงตนให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นและทราบว่า ทุกข์ที่พวกญาติได้รับนั้นทุเลาเบาบางลงแล้ว เพราะการอุทิศส่วนกุศลของพระองค์" ชาวอีสานจึงถือเอามูลเหตุนี้ ทำบุญข้าวประดับดิน ติดต่อกันมา 
วิธีดำเนินการ  :
     พอถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือนเก้า ชาวบ้านเตรียมอาหาร มีทั้งคาวหวาน ได้แก่ เนื้อ ปลา เผือก มัน ข้าวต้ม ขนม น้ำอ้อย น้ำตาล ผลไม้ เป็นต้น และหมากพลู บุหรี่ไว้ไห้พร้อม เพื่อจัดทำเลี้ยงกันในครอบครัวบ้าง และทำบุญถวายพระภิกษุสามเณรบ้าง ส่วนสำหรับอุทิศให้ญาติที่ตาย ใช้ห่อด้วยใบตองกล้วย อาหารคาวห่อหนึ่ง อาหารหวานห่อหนึ่ง และหมากพลูบุหรี่ห่อหนึ่ง เย็บหุ้มปลาย แต่บางคนใส่ใบตองที่เย็บเป็นกระทงก็มี หรือหากไม่แยกกัน อาจเอาอาหารทั้งคาวหวาน หมากพลู บุหรี่ ใส่ในห่อหรือกระทงเดียวกันก็ได้ สิ่งของเหล่านี้ จะมากน้อยก็แล้วแต่ศรัทธา
พอเช้าวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า ตอนเช้ามืด คือ เวลาประมาณ 4 ถึง 6 นาฬิกา ชาวบ้านก็นำอาหาร หมากพลู บุหรี่ที่ห่อใส่กระทงแล้วไปวางไว้ตามพื้นดิน วางแจกไว้ตามบริเวณโบสถ์ ต้นโพธิ์ ศาลา ตามกิ่งไม้หรือต้นไม้ใหญ่ๆ ในบริเวณวัด พร้อมกับจุดเทียนไว้ และบอกกล่าวแก่เปรตให้มารับเอาสิ่งของและผลบุญด้วย
บางหมู่บ้าน จะเอาอาหารที่อุทิศให้แก่ผู้ตายหลังทำพิธีแล้ว ก็ฝังไว้ในดินก็มี เพื่อไม่ให้ผู้ใดผู้หนึ่งกินอาหารที่เป็นเดนเปรต เพราะกลัวจะกลายเป็นเปรตไปด้วย การวางอาหารไว้ตามพื้นดิน หรือตามที่ต่างๆ เพื่อจะให้พวกเปรตมารับเอาของอุทิศให้ได้ง่าย โดยไม่ต้อง มีพิธีรีตอง เสร็จพิธีอุทิศผลบุญส่งไปให้เปรตแล้ว ชาวบ้านก็จะนำอาหารที่เตรียมไว้อีกส่วนหนึ่ง ไปตักบาตรและถวายทานแด่พระภิกษุ สามเณร
การวางข้าวประดับดิน
        มีการสมาทานศีลฟังเทศน์ และกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับต่อไป การทำบุญข้าวประดับดิน บางท้องถิ่นมีการห่ออาหารคาว อาหารหวาน หมาก พลู บุหรี่ ไปวางไว้ตามที่ต่างๆ บริเวณวัด ภายหลังการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรแล้วก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวประดับดิน
                         ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ                   ห่อข้าวประดับดิน     
                                                                                                 " เดือนแปดคล้อยเห็นลมทั่งใบเสียว
                                           เหลียวเห็นหมู่ปลาขาวแล่นมาโฮมต้อน
                                           กบเพิ่นนอนคอยท่าฝนมาสิได้ม่วน
                                          ชวนกันลงเล่นน้ำโห่ฮ้องซั่วแซว
                                          เดือนเก้ามาฮอดแล้วบ้านป่าขาดอน   
                                          เห็นแต่นกเขางอยคอนส่งเสียงหาซู้                                                                                  เถิงระดูเดือนเก้าอีสานเฮาทุกท้องถิ่น                                                                      คงสิเคยได้ยินบุญประดับดินกินก้อนทานทอดน้อมถวาย"
                                             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น