วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ความเป็นมาของโปงลาง
โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีที่พัฒนามาจาก "เกราะลอ" หรือ ขอลอ คำว่า "โปงลาง" นี้ ใช้เรียกดนตรีชนิดหนึ่ง ที่มีการเล่นแพร่หลายทางภาคอีสานตอนกลางและตอนเหนือ ความหมายของโปงลางนั้นมาจากคำ ๒ คำ คือ คำว่า "โปง" และ "ลาง" โปง เป็นสิ่งที่ใช้ตีบอกเหตุ เช่น ตีในยามวิกาลแสดงว่ามีเหตุร้าย ตีตอนเช้าก่อนพระบิณฑบาตให้ญาติโยมเตรียมตัวตักบาตร ตีเวลาเย็นเพื่อประโยชน์ให้คนหลงป่ากลับมาถูก เพราะเสียงโปงลางจะดังกังวาลไปไกล (สมัยก่อนใช้ตีในวัด) ส่วนคำว่า ลาง นั้น หมายถึง ลางดี ลางร้าย โปงลางนั้นก่อนที่จะเรียกว่า โปงลาง มีชื่อเรียกว่า "เกราะลอ" ซึ่ง เกราะลอ มีประวัติโดยย่อคือ ท้าวพรหมโคตร ซึ่งเคยอยู่ประเทศลาวมาก่อนเป็นผู้ที่คิดทำเกราะลอขึ้น โดยเลียนแบบ "เกราะ" ที่ใช้ตีตามหมู่บ้านในสมัยนั้น เกราะลอทำด้วยไม้หมากเลื่อม (ไม้เนื้ออ่อน สีขาว มีเสียงกังวาล ) ใช้เถาวัลย์มัดร้อยเรียงกัน ใช้ตีไล่ฝูงนก กา ที่มากินข้าวในไร่ ในนา เนื่องจากเกราะลอใช้สำหรับตีไล่ ฝูงนก กา ที่มากินข้าวในไร่นา ดังนั้น จึงมีเกราะลออยู่ในทุกโรงนา (อีสานเรียกว่า เถียงนา) เมื่อเสร็จจากภาระกิจในนาแล้ว ชาวนาจะพักผ่อนในโรงนาและใช้เกราะลอเป็นเครื่องตี เพื่อเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ โดยเกราะลอนี้จะตีนอกหมู่บ้านเท่านั้น เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าตีในหมู่บ้านจะเกิดเหตุการไม่ดี เช่น ฟ้าฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นต้น การเรียนการตีเกราะลอในสมัยก่อน เป็นการเลียนแบบ คือเป็นการเรียนที่ต้องอาศัยการจำโดยการจำทำนองของแต่ละลาย เกราะลอที่มี 9 ลูกนี้จะเล่นได้ 2 ลายคือ ลายอ่านหนังสือใหญ่ และลายสุดสะแนน เช่นเดียวกับลายแคนและลายพิณ ดังนั้นเมื่อนำมาเล่นผสมผสานกันจึงได้อรรถรสยิ่งนัก โปงลาง มีลักษณะวิธีการบรรเลงคล้ายกับระนาดเอก คือนำท่อนไม้ หรือกระบอกไม้มาร้อยติดกันเป็นผืน และใช้ไม้ตีเป็นทำนองเพลง แขวนตี กับเสาบ้าง ขึงบนรางบ้าง หรือบางทีก็ผูกติดกับตัวผู้บรรเลง เครื่องดนตรีชนิดนี้พบทั่วไปในหลายประเทศ สำหรับในประเทศไทยพบในแถบภาคอีสาน และเรียกเครื่องดนตรีนี้หลายชื่อด้วยกัน เช่นเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือหมากโปงลาง เป็นต้น ที่ได้ชื่อว่า หมากขอลอ เพราะเวลาเคาะแต่ละลูกมีเสียงดังกังวานคล้าย ขอลอ (หมายถึง เกราะ ในภาษาอีสาน)

ในปัจจุบัน โปงลางนอกจากจะใช้บรรเลงตามลำพังแล้ว ยังนิยมบรรเลงรวมวงกับเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น พิณ แคน โหวด กลอง ประกอบการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน รวมทั้งการแสดงร่วมกับเครื่องดนตรีสากล อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น