วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วัฒนธรรมอีสานใต้ แดนวรมันต์

 ดินแดนถิ่นฐานแห่งวรมันต์
        สวัสดีครับหลังจากห่างหายไปนาน  แว้บหายไปเป็นพักใหญ่ มาเป็นพักเล็กๆน้อย   ทิ้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในสังคมอีสานใต้  ให้เพื่อนพี่น้องชาวบล๊อกที่สนใจในมุมมองของสังคมอีสานใต้ได้เข้าใจถึงวัฒนธรรม  
        ผมเองต้องขออภัยที่ขาดช่วงการนำเสนอเรื่องราวอย่างลึกๆในสังคมวัฒนธรรมไทยเขมรอีสานใต้ ซึ่งทิ้งช่วงไปนานดองงานเก่าไว้เเรมเดือน
         มาวันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาจากภาพถ่ายเก่าๆ  คล้ายๆกับว่าเป็นการเล่าเรื่องจากภาพ   ซึ่งภาพที่ผมหาได้มาเป็นภาพเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกขึ้นในพิธีวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเขมรอีสานใต้อย่างแท้จริง  ซึ่งเป็นทั้งความบังเอิญและการอนุเคราะห์จากญาติผู้ใหญ่ที่สมัยเมื่อ  30  -  25  กว่าปีก่อน การถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ในพิธีกรรมงานต่างๆเป็นสิ่งที่เจ้าภาพหรือผู้จัดงานเห็นความสำคัญ  และเห็นว่าเป็นการบันทึกความทรงจำ  สามารถเก็บไว้ให้ลูกหลานดู  และยังส่งประโยชน์อีกมากมายที่คาดไม่ถึงเมื่อกาลเวลาแปรเปลี่ยน
         เอาเป็นว่ามาทัศนาและทราบถึงทรรศนะภาพเหล่านั้นได้เลยครับ
         ต้องขอเรียนก่อนนะว่าภาพทั้งหมดเป็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่ประมาณ  ปี พ.ศ .2518  -  2537ในชุมชนบ้านหัวเสือ อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ   ถ่ายโดยช่างกล้องท้องถิ่น ใช้กล้องฟิล์ม  ซึ่งในสมัยนั้นทั้งหมู่บ้านมีกล้องดีและช่างภาพฝีมือดีเพียงคนเดียว กล้องถ่ายภาพมีใช้เพียงไม่กี่ตัว  ช่างที่บันทึกภาพในงานแต่ละครั้งต้องว่าจ้างจองตัวล่วงหน้า 
         การถ่ายภาพในสมัยนั้นเป็นที่นิยมไม่แพ้ปัจจุบันแต่ยังแพร่หลายน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบเหมือนในปัจจุบันเพราะกล้องมีใช้เฉพาะคนที่ค่อนข้างมีฐานะ   และผู้ที่ว่าจ้างมาถ่ายในงานก็ต้องมีฐานะว่าจ้างมาถ่ายภาพได้ 
          งานใดได้มีการบันทึกภาพเก็บไว้ดูถือเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจแก่ผู้จัดงานหลังเสร็จสิ้นงานนั้นๆเมื่อนำมาดู
         ภาพชุดเเรกเป็นภาพเกี่ยวกับการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ในภาษาเขมรเรี่ยกว่า
"เทอบ็อนเลิงปะเตี๊ยะทมัย " ที่เกิดขึ้นในชุมชนคนไทยที่มีเชื้อสายเขมรอีสานใต้  วัฒนธรรมแบบแผนพิธีกรรมยังคงเคร่งครัด  ผู้คนสมัครสมานสามัคคี  ภาพกลุ่มนี้ถ่ายเมื่อ  ประมาณ พ.ศ. 2518
            ภาพที่ 1 เป็นสภาพบรรยากกาศภายในครัวในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่
       
ซึ่งครัวในภาษาเขมรเรี่ยกว่า " กรัว "  ซึ่งงานดังกล่าวจะต้องมีกิจกรรมการเข้าครัวหรือภาษาเขมรเรี่ยกว่า " โจลกรัว" ตลอดจนทุกงานไม่ว่าจะเป็นงานใด  สังเกตุ  พ่อครัว(เอากรัว)กำลังนั่งช่วยกันหั่นเนื้อ  ต้มแกง   แม่ครัว(แมกรัว)สาละวนกับการเตรียมอาหารปัจจุบันภาพบรรยากาศดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับสมัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพเรี่ยกว่า ปัจจุบันทันสมัยหลายสิบเท่าแต่บรรยากาสความเป็นวัฒนธรรมชุมชน กรัว แบบชุมชนหายไปแทนที่ด้วย กรัว  แบบสังคมเมืองมากขึ้น
         ภาพที่ 2-3- 4 บรรยากาศที่ใต้ถุนบ้านใหม่ที่ชาวอีสานใต้ใช้ประกอบกิจกรรมขึ้นบ้านใหม่ใต้ถุนบ้านดังกล่าว เป็นสถานที่ใช้ในการหนึ่งที่ชาวไทยเชื้อสายเขมรเรี่ยกว่า " รับพะเยียว" คือ สถานที่รับแขกที่จะมาช่วยงานการทำบุญขึ้นบ้านใหม่  สมัยก่อนนิยมยึดใต้ถุนบ้านใช้เป็นสถานที่ดังที่กล่าวมา   ไม่นิยมกางเต้นเพราะสมัยก่อนไม่ค่อยมีเต้นให้กางการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ใช้สถานที่ไม่มาก   ดังเหมือนการประกอบพิธีศพที่ต้องสร้างประรำและพิธีกรรมที่บริเวณลานนอกบ้านของตน
    
       
      
          ภายในใต้ถุนบ้านจะมีทั้งเเขกเรือคนเฒ่าคนแก่ที่เป็นฝ่ายต้อนรับคอบรับแขกที่มาช่วยงานและพบปะพูดคุยสนทนาทำกิจกรรมภายในงานอย่างสมัครสมานสามัคคี  และเป็นสถานที่จัดเก็บข้าวสารที่ชาวบ้านทำมาช่วยงาน มีเจ้าพนักงานจดบันทักลงสมุดผู้ที่นำเงินมาช่วยงาน  ชาวไทยเชื้อสายเขมรเรี่ยกว่า  "จาวบันจี " ต้องมาประจำ ณ สถานที่นี้เสมอ
           ภาพที่ 5  เป็นพิธีกรรมฝ่ายสงฆ์ที่เรี่ยกว่า  "การโซจจักตึกปะเตี๊ยะทมัย" คือการสวดเจริญพุทธมนต์ขึ้นบ้านใหม่ 
      
สังเกตุภาพดังกล่าวจะเห็นถึงองค์ประกอบการจัดวางสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในพิธีกรรมโดยมีทั้งโต๊ะหมู่ในแบบธรรมเนียมของฝ่ายสงฆ์   และบายศรีหรือ  บายเสร็ย (สังเกตุบายเสร็ยแบบดังกล่าวหาชมได้อยากมากเพราะปัจจุบันมีวิวัฒนาการเอาอย่างบายศรีแบบวัฒนธรรมลาวและไทย) ในมุมที่มีการเเนะนำจากพราหมณ์
           ภาพที่ 6  เป็นพิธีพราหมณ์ โดยการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ ที่เรี่ยกว่า "เฮาปลึงจองไดปะเตี๊ยะทมัย"
       
           ภาพที่  7  หลังเสร็จจากพิธีพราหมณ์แขกผู้มาร่วมงานจะร่วมกันผู้ข้อมือให้แก่เจ้าภาพ  หรือที่เรี่ยกว่า  "จองได"
    
สังเกตุว่าพิธีกรรมในภาพที่ 5 - 6 -7  นิยมกระทำขึ้นบนบ้านเท่านั้น  ทั้งเพื่อเป้นสิริมงคลแก่บ้านใหม่
         ภาพชุดที่  2  เป็นภาพในงานพิธีแซนการ์หรือจัมเรียบการ์ คืองานเเต่งงาน ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2534  ภาพบรรยากกาศในตอนนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปมากแม้ระยะเวลาไม่กี่ปีเป็นช่วงระยะเวลาที่ผมเองจำภาพเหตุได้เป็นอย่างดี  
           ภาพที่ 1  เป็นพิธีกรรมการโจลตะซาร  คือการเข้าปะรำ เตรียมพิธีกรรมในปะรำซึ่งมีเครือญาติฝ่ายเจ้าสาวเเละเจ้าบ่าวมาพร้อมกันที่ปะรำนับว่าแน่ถนัด จนบางส่วนไปกระจุกันอยู่ที่ใต้ถุนบ้าน  เป็นภาพบรรยากาศที่อบอุ่นและครึกครื้น  ที่ปัจจุบันหาดูและสัมผัสแทบจะไม่ได้แล้ว
     
         ภาพที่  2   เป็นพิธีการเจาะกราบหรือสัมเปี๊ยะ คือการไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง  ซึ่งจะสังเกตุเห็นความเปลี่ยนแปลงของการจัดพานบายเสร็ยหรือบายศรี ที่มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว
       
      ภาพที่  3  เป็นภาพญาติผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายร่วมกันในช่วงพิธี  การแซนสแนน คือการเซ่นผีเครือญาติโดยมีเครื่อเซ่นที่เรี่ยกว่า  สเเนน
       
ภาพในพิธีการเเซนการ์ในวัฒนธรรมคนไทยเชื้อสายเขมรอีสานใต้ในช่วงระยะเวลายุคสมัยนั้นมีความเป็นขนบยึดธรรมเนียมปฎิบัติอย่างเคร่งครัดและได้รับความสนใจและให้ความสำคัยเป็นอย่างมาก  แม้ความเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการพิธีกรรมเเซนการืได้ขาดหายและลดทอดไปบ้างในปัจจุบันอย่างน่าใจหาย
      ภาพชุดที่  3  เป็นภาพการทำบุญพำเพ็ญในพิธีศพ  ที่เรี่ยกว่า " บ็อนขม๊อจ " ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2537
        ภาพที่ 1 เป็นพิธีการขึ้นเทศน์ของพระบนธรรมมาศ หรือ เรี่ยกว่า"โลก เลิงตี๊เลอตเนียส"  เป็นพิธีสงฆ์ที่พระชั้นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ ในการขึ้นเทศน์จากคำภีร์ใบลานที่เป็นภาษาเขมรทั้งหมด  เป็นพิธีกรรมช่วงบ่ายก่อนการเคลื่อนศพสู่ฌาปนสถาน
      
               ภาพที่  2  เป็นภาพวงปี่พาทย์ที่ในสังคมเขมรอีสานใต้นิยมว่าจ้างมาบรรเลงร่วมขบวนในพิธีกรรมงานศพ  ชาวเขมรเรี่ยกว่าวง "ปินเปียส"  หรือ "กวงสกัวร"(ทุ่มโมง)
      
           ภาพที่   3  เป็นขบวนการเคลื่อนศพมีคนเฒ่าคนแก่ญาติพี่น้องร่วมขบวน  เรียกว่า  ยัวขม๊อจเจน  คือการเคลื่อนขบวนศพนั่นเอง  ซึ่งสังเกตุภายในภาพชาวบ้าน ญาติๆ จะจับสายจูงศพ ที่ชาวไทยเชื้อสายเขมรเรี่ยกว่า " กระเเสบลัง"
    
           ภาพสุดท้าย  เป็นภาพการละเล่นในวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายเขมรที่เรี่ยกว่า " ลีงอังกุล" คือการทอยสะบ้า  เป็นภาพที่ถูกถ่ายไว้ เมื่อปี พ.ศ 2533  ในช่วงเทศกาล สงกรานต์หรือ ที่เรียกว่า " เทศกาลจะตึกเปรี๊ยะเลิงชนัมทมัย"  การละเล่นดังกล่าวปัจจุบันหายสาบสูญไปจากวัฒนธรรมสังคมเขมรอีสานใต้ไปแล้วโดยปริยาย  ซึ่งเป็นที่ น่าเสียดาย
        

       ปัจจุบันภาพเหตุการดังกล่าวสะท้อนความเปลี่ยนเมื่อนำมาเปรียบเทียบในยุคสมัยปัจจุบัน  ซึ่งกล่าวได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงขนบที่เคยยึดถือและปฏิบัติได้ลดทอดและเริ่มจะจางหายลงไปทุกทีทุกที   ความเป็นวัฒนธรรมเขมรอีสานใต้กำลังจะเป็นเพียงความทรงจำ   ถูกแทนที่และเอาอย่างวัฒนธรรมของสังคมเมืองเคลือบคลานเข้ามาอย่างน่าวิตก  สิ่งต่างที่เป็นปัจจัยในสังคมวัฒนธรรมอีสานใต้หลายๆด้านกำลังจำอยู่ในทิศทางใดเป็นสิ่งที่ลูกหลานควรให้ความสำคัญและหวงแหนในวัฒนธรรมความเป็นท้องถิ่นของตน


โดย บรรณาลัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น